ทางลัดสู่อัจฉริยะ






 -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
               ข้อมูลทางบรรณานุกรมของศูนย์ข้อมูลอมรินทร์
          สม  สุจีรา.
                     ทางลัดสู่อัจฉริยะ  /  เริงฤทัย อุดมศิลป์ : ภาพประกอบ. -- พิมพ์ครั้งที่ 9. -- กรุงเทพฯ:
          อมรินทร์  HOW-TO,  2552.
               (12), 147 หน้า: ภาพประกอบ.

               1. จิตวิทยาประยุกต์.  2. การจำ (จิตวิทยา).  3. ความจำ.  4. การอ่าน.  5. แรงจูงใจที่สัมฤทธิผล.
           I. เริงฤทัย อุดมศิลป์, ผู้วาดภาพประกอบ. II. ชื่อเรื่อง.
 -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


     โลกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่คลื่นลูกที่สาม ยุคแห่งเทคโนโลยีและการสื่อสารอย่างเต็มตัว
ในทศวรรษนี้ ทำให้ระบบการศึกษาทวีความซับซ้อนและหลากหลายยิ่งขึ้น
ทั้งหลักสูตรการเรียนการสอน และเนื้อหา
     กลวิธีในการเรียนรู้ก็ต้องเปลี่ยนไปตามกระแสแห่งโลกาภิวัฒน์ด้วย จากที่เคยศึกษาแบบแยกย่อยและท่องจำ ได้เปลี่ยนมาเป็นการศึกษาแบบองค์รวมและเข้าใจแทน
     "ทางลัดสู่อัจฉริยะ" ได้อธิบายถึงกลวิธีต่างๆที่จะทำให้เรียนเก่งเหนือปกติ
เพราะการเรียนเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของชีวิตและจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็อยู่ในช่วงนี้ 


การจด

     การจดคือคำตอบสุดท้ายสำหรับเทคนิคการจำ และเป็นวิธีที่แน่นอนที่สุดโดยไม่สิ้นเปลือง
พลังสมองเลย เพียงแต่ต้องจำให้ได้ว่า จดแล้วเก็บไว้ที่ไหน เวลาจดไม่จำเป็นต้องใช้คำยาว
หรือประโยคเยิ่นเย้อ แค่ให้สื่อความหมายได้ก็เพียงพอแล้ว
ยกเว้นแต่ว่าเป็นการจดเพื่อให้คนอื่นอ่าน ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้การจดบันทึกง่ายยิ่งขึ้น
     ผู้ที่ประสบความสำเร็จทุกคนจะใช้การจดบันทึกเป็นหลักในการศึกษาหาความรู้
และบางครั้งก็วาดภาพเก็บไว้ด้วย เช่น ชาลส์ ดาร์วิน  ก่อนที่จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการอันยิ่งใหญ่ เขาเก็บข้อมูลและรูปภาพของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆที่ได้พบเห็นขณะออกเดินทางสำรวจ
ไว้เต็มสมุดบันทึกไปหมด  เลโอนาร์โด ดา วินชี มีรูปอวัยวะชนิดต่างๆของร่างกายเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลสำหรับงานศิลป์ของเขา เอดิสันจดรายชื่อวัสดุที่เคยนำมาทดลองเป็นไส้หลอดนับหมื่นชนิด
คนที่เรียนเก่งจะไม่ใช้วิธีจำทั้งหมด เพียงแต่จดรายละเอียดไว้ และเมื่อต้องการใช้ก็รู้ว่าควรไปหา
ข้อมูลอ้างอิง ณ ที่ใด
   เช่นเดียวกับไอน์สไตน์ที่เคยบอกไว้ว่า "ผมไม่จำเป็นต้องจำว่าหนึ่งไมล์เท่ากับกี่ฟุต
ในเมื่ออยากรู้เมื่อไหร่ ก็ไปเปิดหนังสือดูได้"
      หัวใจสำคัญของการเรียนรู้คือต้องทำความเข้าใจให้ได้ก่อน หลังจากนั้นรายละเอียดจะตามมาเอง
ถ้ากลัวลืมรายละเอียดบางอย่าง ก็ใช้วิธีจดไม่ต้องจำ แล้วใช้เวลาส่วนใหญ่ขณะเรียน
ไปกับการพยายามทำความเข้าใจ
      ความเข้าใจทำให้เกิดความรู้สึกใฝ่รู้และสนุกกับการเรียนแม้จะจำไม่ได้ แต่ก็รู้ว่าจะไปเปิดดูที่ไหน เมื่อดูบ่อยครั้งเข้า ก็จะจำได้เองโดยอัตโนมัติ และเป็นการจำจากความรู้สึก
ซึ่งคงทนยาวนานกว่าการจำจากความคิด


การสอบ

      วิธีเตรียมตัวสำหรับการสอบที่ดีที่สุดคือ การทำแบบฝึกหัด และแบบฝึกหัดที่ดีที่สุดคือข้อสอบเก่า การทำข้อสอบเก่าควรทยอยทำทุกวัน วันละ 4-5 ข้อต่อวิชา
นั่นหมายความว่า ถ้ามีวิชาที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย 6 วิชา ในหนึ่งวันควรทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยปีก่อนๆประมาณ 30 ข้อต่อวัน ถ้าทำย้อนหลังถึงสิบปี แนวข้อสอบจะซ้ำอยู่แบบนั้น
สมองของคนเรามีความสามารถในการประยุกต์สูงมาก เมื่อพบกับข้อสอบในปีต่อไป
แม้จะมีการพลิกแพลง เปลี่ยนตัวเลขอย่างไร แต่ถ้าแนวข้อสอบเหมือนเดิม สมองจะสร้างแบบแผนใหม่ในการแก้ปัญหานั้นได้โดยอัตโนมัติ
     ดังนั้นหนึ่งปีก่อนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะต้องทำข้อสอบเก่าทุกวันแบบคละวิชา
อย่างน้อยวันละ 30 ข้อ (วิชาละ 5 ข้อ) ห้ามหยุด เพราะการหยุดเพียงหนึ่งวันจะทำให้กำลังสติลดลง
อย่างมาก เช่นเดียวกับนักกีฬาที่ต้องซ้อมเพื่อลงแข่งจะรู้ดีว่า ถ้าวันไหนหยุดซ้อม
วันต่อมากำลังเรี่ยวแรงและความไวจะลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด
    ช่วงก่อนสอบหนึ่งเดือนควรงดกิจกรรมที่เข้ามาขัดจังหวะการเรียนรู้และความจำ
เพราะสมองจะเรียงลำดับข้อมูลก่อนหลัง เช่น
การดูภาพยนตร์ก่อนอ่านหนังสือจะเป็นผลเสียต่อการสอบน้อยกว่าการอ่านหนังสือแล้วไปดูภาพยนตร์ เพราะสิ่งที่ได้อ่านมาจะถูกลบด้วยข้อมูลจากภาพยนตร์ ดังนั้นช่วงก่อนสอบควรตั้งจิตมุ่งมั่นไปที่เนื้อหา-การเรียนเพียงอย่างเดียว เพื่อดึงข้อมูลเก่าที่สะสมอยู่ให้ออกมามากที่สุด คอมพิวเตอร์เกม อินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่การอ่านหนังสือพิมพ์ ควรหยุดอย่างสิ้นเชิง
ถ้าจะพักผ่อนระหว่างเตรียมตัวสอบ ให้เลือกวิธีพักผ่อนแบบที่ไม่ต้องรับข้อมูลใหม่ๆเข้ามา
เช่น นั่งสมาธิ ไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ ออกกำลังกาย หรือจะฟังเพลงเก่าๆที่เคยชื่นชอบ
มีวิธีผ่อนคลายมากมายที่จะทำให้ข้อมูลที่เรียนรู้หรือจดจำอยู่ไม่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกลบ
พยายามมีสมาธิอยู่กับเรื่องการเรียนจนถึงวันที่สอบ 
    สิบนาทีก่อนเข้าห้องสอบก็เป็นช่วงที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องคุยกับใคร
ให้นำบทสรุปที่ย่อความเฉพาะส่วนสำคัญๆมาอ่านทวนอีกครั้งก่อนเข้าห้องสอบ
และเมื่อเข้าห้องสอบแล้ว พยายามเขียนข้อความสำคัญ สูตร คำศัพท์ หรือสิ่งที่ท่องมา
ลงในกระดาษคำถามทันที โดยไม่จำเป็นต้องเขียนทุกตัวอักษร อาจจะเขียนเพีงคำบางคำ
หรือตัวย่อที่เมื่ออ่านจะเข้าใจทันทีว่าหมายถึงอะไร การจดลงไปจะทำให้ความกังวลเรื่องการท่องจำ
ลดน้อยลง และสมองส่วนความเข้าใจจะได้ทำงานอย่างเต็มที่



แพ้ใจตัวเอง

    นักเรียนบางคนทนการยั่วยวนจากเกมคอมพิวเตอร์ไม่ไหวและบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร
พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านก็ยังทัน การคิดแบบนี้ก็คือการเอาเวลาในอนาคตมาค้ำประกันพฤติกรรมปัจจุบัน
พอถึงเวลาในอนาคตจริงๆ ถ้าจิตยังไม่เปลี่ยน วิธีคิดก็จะเป็นเหมือนเดิม
ถ้าเอาชนะใจตัวเองในเวลานี้ยังไม่ได้ ก็จะไม่มีทางเอาชนะใจในเวลานั้นเช่นกัน
   ผู้ใดที่เอาชนะใจตนเองได้จะสามารถชนะทุกคนบนโลกนี้
ไม่มีมนุษย์คนใดบนโลกที่สามารถเอาชนะตนเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นพระอรหันต์
ดังนั้นการที่จะประสบความสำเร็จได้มากเท่าใดขึ้นอยู่กับว่าจะเอาชนะใจตัวเองได้กี่เปอร์เซ็นต์
   ความรู้สึกต้องตัดด้วยความรู้สึก วิธีหนึ่งในการเอาชนะตัวเอง คือทุกครั้งที่ทำอะไรในสิ่งที่ไม่ควร
ให้มีความรู้สึกผิดอยู่ในใจเสมอ แม้จะหักห้ามใจไม่ได้ แต่ความรู้สึกผิดที่สะสมมากขึ้นๆ
ในที่สุดจะเอาชนะกิเลสตัณหาได้ เช่น แทนที่จะเอาเวลามาอ่านหนังสือ
แต่หักห้ามใจจากการเล่นเกมไม่ได้ ในขณะที่เล่นเกมอยู่ ให้สร้างความรู้สึกผิดเกิดขึ้นลึกๆในใจ
อยู่ตลอดเวลาที่กำลังเล่นอยู่นั้น
   วิธีเอาชนะใจที่ได้ผลอย่างชะงัดคือ วิธีการหักดิบ หมายความว่าต้องตัดใจอย่างกะทันหัน
ด้วยจิตที่มุ่งมั่น เลิกเดี๋ยวนั้น ไม่มีผัดวันประกันพรุ่งรอให้ถึงวันโน้นก่อนจึงจะเลิก
เพราะกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับในอนาคตไม่ต่างกัน ถ้าเอาชนะตัวเองในปัจจุบันขณะไม่ได้
ก็อย่าหวังว่าเมื่อถึงเวลาที่กำหนดในอนาคตจะเอาชนะได้ เพราะความเข้มของกิเลสตัณหายังคงเดิม หรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป



การเรียนรู้ด้วยตัวเอง


   ต้องรู้จักสังเคราะห์ความรู้ที่เรียนมาให้เป็นความรู้ใหม่ที่ต่อยอด แตกออกเป็นกิ่งก้านสาขา
ลำพังความจำ ความเข้าใจ หรือการวิเคราะห์ยังไม่ใช่สุดยอดทางด้านการเรียน


   ผู้ที่รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองจะมีความยืดหยุ่นสูง และมีแผนสองแผนสามอยู่ในใจเสมอ 
ความสำเร็จของชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ บางคนจบวิศวกรแต่ไปประสบความสำเร็จทางธุรกิจ 
จบบัญชีไปเป็นพิธีกร จบสถาปัตย์แต่ประสบความสำเร็จกับอาชีพนักแสดง 
สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้นอกเหนือจากที่มหาวิทยาลัยสอน 
การเรียนไม่จำเป็นต้องมาจากในระบบโรงเรียนเสมอไป
    - ทอมัส แอลวา เอดิสัน ไม่ได้เรียนหนังสือ
    - บิลล์ เกตส์ ไม่จบปริญญาตรี 
คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตล้วนแต่ใช้ความรู้ที่แสวงหาเพิ่มเติมจากภายหลัง 
บางครั้งสิ่งที่เรียนมาก็ไม่ได้ใช้ และถ้าเปลี่ยนสายงาน ปริญญาบัตรอาจเป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่ง
ที่ช่วยให้สมัครงานง่ายขึ้น แต่งานที่ทำไม่ได้เกี่ยวกับที่เรียนมาเลยก็เป็นได้



     สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันสอดคล้อง 9 ข้อที่พ่อสอนไว้ "นิสัยแห่งความดี"

ด้านต่างๆ ดังนี้ 

1. ความเพียร

     เช่น  หมั่นท่องคำศํพท์ภาษาอังกฤษบ่อยๆ  ฝึกทำข้อสอบทุกวัน อ่านหนังสือก่อนเรียนล่วงหน้า



2. ความพอดี
    เช่น  การพักผ่อนระหว่างการทำงานบ้าง แต่ไม่ควรนานจนเกินไป

   

3. ความรู้ตน
 เช่น  การเลือกเรียนสาขาวิชาที่เราถนัดและเสี่ยงตกงานน้อย จะช่วยให้เรียนได้ดีและจบออกไปมีงานทำ

   

4. คนเราจะต้องรับและจะต้องให้
    เช่น  การจับกลุ่มติวกับเพื่อน เวลาเพื่อนมีข้อสงสัยก็อาจจะช่วยเพื่อนหาข้อมูล

  



5. อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ

    เช่น การเอาชนะกิเลสต่างๆที่เข้ามาก่อกวนจิตใจ


6. พูดจริงทำจริง
       ถ้าหากเราคิดว่าเราจะทำได้ ก็จะเกิดกำลังใจ ทำให้เราทำสิ่งนั้นได้
  

7. หนังสือเป็นออมสิน
        การหมั่นทำข้อสอบเก่าทุกวัน เพื่อฝึกกำลังสมอง
  

8. ความซื่อสัตย์
       เช่น การฝึกทำข้อสอบทุกวัน ไม่มีวันหยุดพัก และไม่แอบดูเฉลยระหว่างการทำข้อสอบ
   

9. การเอาชนะใจตน
       เช่น การตั้งใจจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแน่นอน ไม่มีผัดวันประกันพรุ่ง
















1 ความคิดเห็น:

  1. ทำให้รู้ว่าถ้าหากเราทำงานกันเป็นทีมจะทำให้งานของเราเสร็จได้เร็วขึ้น

    ตอบลบ